ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นสถานการณ์ที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ต่อการเกิดอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน และการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งหนึ่งในสามของสาเหตุของโรคดังกล่าวเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ อ้วน เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้เร็วขึ้น รวมทั้งพบว่าไตจะเสื่อมและวายเร็วขึ้น เมื่อเป็นเบาหวานร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูงคนทั่วไปที่มีภาวะความดันโลหิตสูงไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไรก้อตามมีโอกาสเป็นอัมพาตและหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่มีความดันโลหิตปกติถึง 2 – 4 เท่าส่วนใหญ่มักไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการนำมาก่อน แต่เมื่อไรก้อตามที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูง ภาวะนี้จะอยู่กับผู้นั้นไปตลอดชีวิต จากสถิติพบว่าสองในสามของผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ในวัยทำงาน และมักไม่ให้ความสำคัญตลอดจนขาดการเรียนรู้ และขาดทักษะในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
” ระดับความดันโลหิตที่ถือว่าสูง : มากกว่าหรือเท่ากับ 140 ซีสโตลิก ( ความดันโลหิตตัวบน) และ / หรือ 90 ไดแอสโตลิก (ความดันโลหิตตัวล่าง) ทั้งนี้ ความรู้ ความเข้าใจ และเทคนิค ในปัจจุบัน ได้แสดงว่าภาวะความดันโลหิตสูงสามารถจัดการ หลีกเลี่ยง ป้องกัน และควบคุมได้ด้วยตัวเอง”
“ความดันโลหิตสูง” เป็นปรากฏการณ์ของระดับความดันโลหิตที่เบี่ยงเบนจาก “ปกติ” โดยเพิ่มสูงขึ้น จนมีผลทำให้เกิดการทำลายผนังหลอดเลือด นำไปสู่การทำลายอวัยวะส่วนปลายที่สำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ไต จอประสาทตา เป็นต้น
จุดมุ่งหมายของการควบคุมดูแลความดันโลหิตสูง
เพื่อจัดการดูแลรักษาควบคุมความดันโลหิตสูงให้กลับสู่ระดับปกติ
เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงร่วมที่สำคัญที่มีผลต่อการทำลายผนังหลอดเลือดของอวัยวะต่าง ๆ
ท่านเริ่มต้นแล้วหรือยังตัวท่านสำคัญที่สุด
ตัวท่านเองเท่านั้นที่เป็นคนสำคัญที่สุดในการจัดการควบคุมดูแลให้กลับสู่ภาวะปกติ ทีมผู้รักษาเป็นเพียงผู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น
เพื่อก้าวไปสู่ภาวะความดันปกติถามตัวเองว่า ท่านปฏิบัติตามนี้แล้วหรือยัง
1. มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูง (ดัชนีมวลกาย = 18.5 – 25 กิโลกรัม/)
2. มีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง
3. บริโภคอาหารตามข้อปฏิบัติการรับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์แก่สุขภาพและอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วยหอม แตงไทย ส้ม ฯลฯ
4. ลดปริมาณเกลือแกงหรือเกลือโซเดียมในอาหาร โดย
- จำกัดการใช้เกลือในการปรุงอาหารหรือเครื่องปรุงรสบนโต๊ะอาหาร
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง และ/ หรือรสเค็มจัด เช่น อาหารกระป๋อง อาหารกินเล่น อาหารแช่แข็งและปรุงสำเร็จ อาหารใส่ผงชูรส เป็นต้น
- เมื่อจับจ่ายชื้ออาหารสำเร็จรูป อ่านฉลากกำกับทุกครั้งและเลือกชื้ออาหารที่ระบุชัดเจนว่ามี “โซเดียมต่ำ” หรือ ” ไม่ใช่เกลือ ” เท่านั้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
- ใช้เครื่องเทศแทนการใช้เกลือ เช่น เครื่องเผ็ด น้ำส้ม มะนาว กระเทียม ขิง หัวหอม เป็นต้น
- เลือกรับประทานอาหารสด ผลไม้และผัก ข้าว ขนมปัง เป็นต้น
5. ลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์
6. ไม่สูบบุหรี่
7. จัดการเวลาและมีทักษะเผชิญต่อความเครียด
8. เรียนรู้และปฏิบัติตัวตามข้อปฏิบัติและคำแนะนำที่ถูกต้องของแพทย์และทีมการดูแลสุขภาพ
ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ความเข้าใจผิด หยุดกินยาได้ เมื่อความดันปกติหรือไม่มีอาการ
ความจริง ต้องดูแลรักษาตนเองอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฎอาการ
ความเข้าใจผิด ยาลดความดันกินมาก ๆ แล้วทำให้เป็นโรคไต
ความจริง การรักษาความดันสูงจะชะลอการเกิดไตวาย
ความเข้าใจผิด ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยไม่ต้องกินยาก็ได้
ความจริง ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องกินยาเพื่อควบคุมความดันเพียงแค่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอาจไม่เพียงพอ